บทบาทในฐานะผู้จัดการทีม ของ บ็อบบี ร็อบสัน

การคุมทีมในช่วงแรก

รูปปั้นของร็อบสันที่พอร์ตแมนโรด

ใน ค.ศ. 1959 ร็อบสันได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นโค้ชให้กับทีมชาติอังกฤษ ร็อบสันดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม ค.ศ. 1968 โดยเป็นผู้จัดการทีมของฟูลัม อดีตต้นสังกัดของเขาในสมัยค้าแข้ง ภายใต้การคุมทีมของเขาจาก 24 นัด ฟูลัมมีคะแนนเพียงแค่ 16 คะแนนเท่านั้น[4][5] ทำให้เขาไม่สามารถช่วยทีมให้รอดพ้นจากการตกชั้นสู่ดิวิชันสองได้[6] ซึ่งการตกชั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน[7]

หลังจากนั้นเขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมของอิปสวิชทาวน์ ใน ค.ศ. 1969 และประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในฤดูกาล 1972-73 เขาพาทีมคว้าอันดับที่ 4 ในลีกได้สำเร็จ และยังพาทีมคว้าแชมป์ Texaco Cup อีกด้วย[8] ในฤดูกาล 1977-78 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ 9 ของเขากับทีม อิปสวิชจบฤดูกาลได้ต่ำกว่าอันดับที่ 6 ของตาราง แต่อย่างไรก็ตามเขาสามารถพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ โดยในนัดชิงชนะเลิศอิปสวิชสามารถเอาชนะอาร์เซนอลไปได้ 1-0[9] ในอีก 3 ปีถัดมา เขาสามารถพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพได้สำเร็จ โดยการเอาชนะอาแซดอัลค์มาร์ด้วยสกอร์รวม 5-4[10]

ใน ค.ศ. 2002 การสร้างรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของเขาเสร็จสิ้น โดยตั้งอยู่ที่พอร์ตแมนโรด สนามเหย้าของอิปสวิช

ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

การคุมทีมอื่นๆในทวีปยุโรป

กราฟแสดงอันดับในลีกเมื่อจบฤดูกาลของร็อบสัน

ก่อนที่ฟุตบอลโลก 1990 จะเริ่มขึ้น สมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือเอฟเอได้บอกกับร็อบสันว่าจะไม่ต่อสัญญาของเขาต่อไป หลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมพีเอสวีไอน์โฮเฟน และคว้าแชมป์พรีเมียร์ดัตต์ได้ทั้ง 2 ฤดูกาลที่คุมทีม คือ ฤดูกาล 1990-91 และ 1991-92 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วยยุโรป ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อจบฤดูกาล[11]

เขาเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมสปอร์ติงลิสบอนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1992 ซึ่งในขณะนั้น โชเซ มูริญโญ เป็นล่ามในภาษาโปรตุเกสให้กับเขา ร็อบสันพาทีมจบอันดับที่ 3 ในฤดูกาลแรก แต่ก็ถูกปลดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993

หลังจากที่ลิสบอนปลดร็อบสันออกจากตำแหน่งไม่นานนัก สโมสรฟุตบอลโปร์ตูก็ได้ประกาศแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้จัดการทีมทันที โดยมีมูริญโญเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม ภายใต้การคุมทีมของเขา ปอร์โตสามารถเอาชนะลิสบอนได้ในนัดชิงชนะเลิศโปรตุกีสคัพ ต่อมาปอร์โตก็สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยติดต่อกัน คือ ฤดูกาล 1994-95 และ 1995-96[12]

เขาได้รับต่อสัญญากับทีมใน ค.ศ. 1995 และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการคุมปอร์โต[13]

ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1996 เขาได้รับโทรศัพท์จาก จวน กัลพาร์ท รองประธานสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา โดยได้สนทนากับลูอิช ฟีกู เพื่อที่จะเชื้อเชิญให้เขาเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีม[14] จนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1996 ร็อบสันได้รับการแต่งตั้งในคุมทีมบาร์เซโลนา โดยเขาได้ให้มูริญโญเป็นผู้ช่วยของเขาด้วย[15] ในการคุมทีมเขาได้เซ็นสัญญากับโรนัลโดด้วยค่าตัว 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[16] และในฤดูกาลเดียวร็อบสันสามารถพาทีมคว้าแชมป์สเปนิชคัพ, สเปนิชซูเปอร์คัพ และยูโรเปียนส์วินเนอร์คัพได้[17] โดยในฤดูกาลนี้เขาได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรปด้วย

ในฤดูกาล 1997-98 ร็อบสันเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมทั่วไปของสโมสร และลูวี ฟัน คาล เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทีม แต่ร็อบสันอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่ฤดูกาลเดียวเขาก็กลับไปรับตำแหน่งผู้จัดการทีมของเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟินอีกครั้ง ด้วยสัญญาระยะสั้นเพียง 1 ฤดูกาล คือ ฤดูกาล 1998-99[18] โดยจบฤดูกาลในอันดับที่ 3 ของตารางตามหลังเฟเยนูร์ด และวิลเลม II[19]

กลับคืนสู่เกาะอังกฤษ

ภายหลังสัญญาระหว่างร็อบสันกับพีเอสวีหมดลง เขาได้กลับสู่อังกฤษอีกครั้ง และมีตำแหน่งในทีมชาติอังกฤษด้วย[20] แต่หลังจากนั้น รืด คึลลิต ผู้จัดการทีมนิวคาสเซิลยูไนเต็ด ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง บอร์ดบริหารจึงตัดสินใจแต่งตั้งให้ร็อบสันดำรงตำแหน่งแทนในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1999[21] และสโมสรก็ได้ทำให้ร็อบสันเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากเนื่องจากให้เงินค่าซื้อขายเพียง 1 ล้านปอนด์เท่านั้น[22]

ในนัดแรกที่ร็อบสันคุมทีม เขาสามารถพาทีมถล่มเชฟฟิลด์เวนส์เดย์ไปได้อย่างขาดลอยถึง 8-0 และพาทีมจบในอันดับที่ 11 ในฤดูกาลแรก โดยจากการแข่ง 32 นัด นิวคาสเซิลสามารถเก็บชัยชนะได้ถึง 14 นัด ภายใต้การคุมทีมของเขา[22][23] หลังปี ค.ศ. 2000 เควิน คีแกน ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ทำให้มีการเจรจาให้ร็อบสันเข้ารับตำแหน่งแทนเป็นการชั่วคราว แต่ร็อบสันก็ได้ปฏิเสธที่จะเข้ารับตำแหน่ง[24] ในฤดูกาล 2001-02 นิวคาสเซิลภายใต้การคุมทีมของร็อบสันสามารถจบฤดูกาลได้ในอันดับที่ 4 ของตาราง[25] ในฤดูกาลถัดมานิวคาสเซิลจบฤดูกาลในอันดับที่ 3 ของตาราง พร้อมทั้งได้สิทธิ์ลงแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน[26] อย่างไรก็ตามเขาไม่สามารถพาทีมให้เขารอบต่อไปได้ ทำให้ต้องแข่งขันยูฟ่าคัพแทนในฤดูกาล 2003-04[27] โดยในฤดูกาล 2003-04 นิวคาสเซิลจบฤดูกาลในอันดับที่ 5 ของตาราง ห่างจากทีมอันดับที่ 4 เพียง 4 คะแนนเท่านั้น ทำให้ในฤดูกาล 2004-05 นิวคาสเซิลไม่สามารถแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ แต่ต้องไปแข่งขันยูฟ่าคัพแทน[28]

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2004 เฟรดดี เชพเพิร์ด ประธานสโมสร ประกาศปลดร็อบสันออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเริ่มฤดูกาลใหม่อย่างย่ำแย่ และขัดแย้งกับนักเตะ[29] โดยสโมสรได้ประกาศแต่งตั้ง แกรม ซูเนสส์ เข้าดำรงตำแหน่งแทนร็อบสัน

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 2005 เขาได้ปฏิเสธข้อเสนอของฮาร์ทส์ที่ต้องการให้เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีม เนื่องจากเขาต้องการอาศัยอยู่ที่นิวคาสเซิล[30] ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2006 สตีฟ สตอนตัน เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติไอร์แลนด์ โดยพร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้ร็อบสันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้วย[31] และเขาก็ได้ประกาศรีไทร์จากวงการฟุตบอลด้วยเหตุผลด้านสุขภาพใน ค.ศ. 2007

แหล่งที่มา

WikiPedia: บ็อบบี ร็อบสัน http://sportsillustrated.cnn.com/soccer/news/2002/... http://www.fcbarcelona.com/web/english/club/histor... http://findarticles.com/p/articles/mi_qn4161/is_20... http://www.footballderbies.com/honours/index.php?i... http://www.fulhamfc.com/Club/ClubHistory/Managers/... http://www.rsssf.com/tablese/eng00.html http://www.soccerbase.com/league2.sd?teamid=1055&s... http://www.thefa.com/England/SeniorTeam/History/Po... http://www.tmwmtt.com/sql/managers/profile.phtml?&... http://www.uefa.com/competitions/uefacup/history/s...